แกะวิชา Organization Management จากตำราสามก๊ก

Phornthz Note
3 min readNov 21, 2020

--

เพื่อไม่ให้เสียเวลา และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะเริ่มอ่านบทความนี้ เนื้อหาที่นำมาวิเคราะห์มาจากหนังสือสามก๊ก ฉบับพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งผู้เขียนใช้เวลาอ่านหนึ่งเดือน โดยอ่านเพียงหนึ่งรอบเท่านั้น และอ่านในช่วงอายุ 31 ปี

ขอบคุณภาพจากสามก๊กวิทยา จาก website Pinterest

ถ้าดูจากอายุก็จะคงคาดเดาได้ว่ามุมมองที่จะเล่าต่อไปนี้ จะเกี่ยวกับการทำงานเสียส่วนใหญ่ ซึ่งผู้เขียนไม่ต้องการอ้างอิงองค์กรหรือสถาบันใด เพียงแต่วิเคราะห์เป็นภาพกว้างเท่านั้น และเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว

สามก๊กเป็นตำราด้าน Organization Management ที่สอนหลายๆ แง่มุมผ่านแนวคิดตัวละคร ทั้งเจ้านาย ลูกน้อง พันธมิตร หรือคู่แข่ง ซึ่งแตกออกเป็นหัวข้อย่อย ที่จะสรุปดังต่อไปนี้

  1. Culture and Org chart
  2. Recruitment and Head hunter
  3. Consultant
  4. ทหารเสือ
  5. Strategy
  6. Opportunity
  7. Connection
  8. Honestly & Loyalty
  9. Reward
  10. Penalty

Culture and Org chart

สามก๊กแบ่งออกเป็น 3 การปกครองหลักได้แก่ วุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊ก ซึ่งมี CEO และทีมบริหารซึ่งวางรูปแบบองค์กรไว้ต่างกันโดยสิ้นเชิง

วุยก๊ก มี CEO ที่ค่อนข้าง aggressive เน้นผลลัพธ์และให้โอกาสคนทำงาน หากทำได้ดีก็ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า แต่หากพลาดก็แทบไม่มีโอกาสแก้ตัว เหมาะกับคนที่ไม่มีเส้นสาย อยากพิสูจน์ฝีมือ เพราะจะมีโอกาสได้ทำงานใหญ่เพื่อ challenge ศักยภาพ

จ๊กก๊ก มีที่ปรึกษาทางกลยุทธ์ที่เก่งกาจและมีอำนาจในการตัดสินใจ แต่หากเป็นลูกน้องโอกาสที่จะได้ทำงานใหญ่จะน้อยกว่าสายเลือด เพื่อนพ้องหรือคนสนิท เน้นระบบโตอย่างมั่นคง ค่อยๆ เรียนรู้จากที่ปรึกษา ใช้คนเก่งซ้ำๆ ในงานเดิม ทำให้ในรุ่นหลังๆ ไม่สามารถป้อนคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานบริหารได้ทัน

ง่อก๊ก ถือเป็นองค์กรที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ ได้เปรียบคู่แข่งทั้งด้านยุทธศาสตร์และการบริหารจัดการทรัพยากร ผู้บริหารหรือผู้คนในเมืองนี้จึงไม่เน้นการแข่งขันมากนัก เนื่องด้วยมีพร้อมอยู่สุขสบายอยู่แล้ว แต่จะเน้นเรื่องการตั้งรับ ดูแลรักษา ป้องกันมากกว่า ซึ่งหมายรวมถึงการหา partner และการเจรจาการทางฑูตแทนการสงครามอีกด้วย

ทั้ง 3 ก๊ก เปรียบเสมือนการที่เราจะเลือกองค์กร สิ่งสำคัญคือต้องกลับมาถามตัวเองว่าเราเป็นคนแบบไหน ต้องการอะไร เหมาะที่จะอยู่กับบริบทแวดล้อมและเจ้านายแบบไหน เพื่อที่จะทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนสนทนากับหลายคน แต่ละคนก็มีความชอบต่างกัน ไม่มีผิดถูก ต่างกรรมต่างวาระค่ะ

credit: China Wikipedia

Recruitment and Head hunter

ถ้าพูดถึงเรื่องการหาคนเก่งเข้าทีม ขอยกคะแนนนี้ให้กับโจโฉ หลายเหตุการณ์ในหนังสือที่แสดงให้เห็นว่าโจโฉเป็นผู้บริหารที่ recruit คนได้เก่งมาก (ไม่นับเรื่องผิดถูกนะ) เราขอแบ่งเหตุการณ์ออกเป็น 3 ข้อ ดังนี้

  1. เมื่ออยู่ในสงครามเห็นศักยภาพของทหารเอกคู่แข่ง ก็เลือกที่จะไม่ทำร้ายให้ถึงกับชีวิต แต่ใช้วิธีต้อนให้จนมุมแล้วเกลี้ยกล่อมให้เข้ามาเป็นพวกพ้อง ไม่คิดเล็กคิดน้อยว่าเคยทำงานให้ใคร หรือมี background แบบไหน
  2. รู้จักสังเกตว่าคนที่ตัวเองอยากดึงให้เข้าทีม เป็นคนแบบไหน value อะไรในชีวิตแล้วจึงเลือกเสนอ package อย่างเหมาะสม เช่นตอนที่เอาม้าเซ็กเธาว์ให้ลิโป้ เป็นการยอมเสียของมีค่า เพื่อให้คนที่เหมาะสมเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเท่ากับองค์กรแทบไม่เสียอะไร
  3. สร้างสถานการณ์บีบคั้นให้เกิดทางเลือก เช่นตอนที่หลอกชีซีว่ามารดาป่วยและเขียนจดหมายเรียกหา ใช้จุดอ่อนของคนนั้นเป็นเส้นหลักในการดึงเข้ามาทำงานด้วย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าวิธีแบบนี้ไม่สามารถซื้อใจได้ แต่ถ้าแค่อยากเอาชนะคู่แข่งก็ถือว่าทำสำเร็จทีเดียว

Consultant

ที่ปรึกษาผู้บริหาร เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อองค์กรเป็นอย่างมาก โดยเราแบ่งความหมายของ consult เป็น 2 แบบคือ

  1. ที่ปรึกษาที่มี authority สามารถ empower ลูกทีมและเป็นกำลังสำคัญในการ execution ซึ่งส่วนใหญ่บุคคลเหล่านี้จะมีกระบวนการคิดมาจากประสบการณ์จริง
  2. ที่ปรึกษาที่ไม่มี authority อาจจะเป็นคนนอกองค์กรที่มีความรู้ความสามารถหรือบริษัทที่ปรึกษา แต่มีความสำคัญในแง่ของความนับถือ เชื่อถือ เน้นการให้แนวทางปฏิบัติเหมือนเป็น visionary ไม่เน้นประสบการณ์แต่เน้นความรอบรู้ในตำหรับตำรา และการมีเครือข่ายที่ดี

แน่นอนว่าทั้ง 3 ก๊กมีทีมที่ปรึกษาที่วางกุลยุทธ์อย่างชาญฉลาด ผลัดนำกันคนละยุคสมัย สิ่งที่ได้จากการอ่านสามก๊กไม่ใช่แค่มีที่ปรึกษาที่ดี แต่เป็นคนที่รู้ว่าจังหวะไหนควรทำเรื่องอะไร วางแผน และรอ ลำดับความสำคัญและมีเป้าหมายเดียวกับผู้นำ

ซึ่งข้อสำคัญที่สุดคือนอกจากเก่งแล้วยังต้องซื่อสัตย์ เพราะหากเป็นคนเก่งเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะใช้ความเก่งย้อนกลับมาทำร้ายผู้นำได้

ทหารเสือ

เมื่อพูดถึงที่ปรึษาที่พร้อมวางกลุยุทธ์และป้อนข้อมูลให้ผู้บริหารได้ตัดสินใจแล้ว การลงมือทำก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากมีเพียงแผน แต่ไม่สามารถ execute ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ การมีทหารเสือ หรือทหารเอก หรือแม้แต่มือขวาจึงมีความจำเป็นต่อแม่ทัพหรือผู้บริหารเป็นอย่างมาก

แล้วทหารเสือที่ดี เลือกยังไง ?

ข้อนี้ในตำราไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน เพียงแต่ผู้เขียนตีความตามการบริหารของแต่ละก๊ก ซึ่งโดยส่วนมากจะเลือกจาก 4 ข้อหลัก ดังนี้

  1. ความสามารถ ฉลาด มีไหวพริบ (Hard Skill & Soft Skill) เก่งกาจในด้านนั้นๆ ตลอดจนรู้จักอ่านเกมคู่แข่ง เมื่ออยู่หน้างานทักษะและประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ ความแข็งแกร่งสร้างขึ้นเพื่อให้คู่แข่งเกรงกลัว แต่ empathy หรือความเห็นอกเห็นใจ ควรมีให้ลูกน้องและบริวาร ต้องสามารถบริหาร 2 ทักษะนี้ไปได้พร้อมๆ กัน
  2. ความกล้าหาญ (Brave) ถ้าเป็นสมัยนี้คงใช้คำว่ากล้าที่จะ challenge ตัวเองและ make impact คิดการใหญ่ ตลอดจนกล้าที่จะเสนอตัว ในสงครามมี 2 ทางเลือกคือชนะหรือแพ้ หากผู้นำไม่กล้าหาญ เข้มแข็ง และเป็นเสาหลักให้ทีมได้ ลูกน้องก็จะเกิดความโลเลด้วยกังวลถึงความปลอดภัย ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ตลอดจนคุณภาพชีวิต การมีทหารเสือที่เปรียบเสมือนหัวหน้าทีมที่เก่งจึงเป็นเหมือนกับการสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน ให้ทีมงานไม่ย่อท้อและฝ่าฟันให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้
  3. กล้าตัดสินใจ (Decision maker) ด้วยบริบทในยุคนั้นการสื่อสารทำได้ยาก การเปลี่ยนหรือขอ direction จากผู้บริหารเมื่ออยู่หน้างาน เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยง ทหารเอกจึงต้องกล้าตัดสินใจเพื่อนำคนหมู่มาก ผ่านวิกฤตในตอนนั้นให้ได้ รวมถึงยังต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำนั้นๆ ด้วย
  4. ความซื่อสัตย์ (Honesty) เป็นข้อสำคัญที่สุดที่คลอบทั้ง 3 ข้อแรกไว้ เมื่อใดที่มือขวามีครบทั้งสามองค์ประกอบแต่ไม่มีความซื่อสัตย์ องค์กรก็มีสิทธิ์ล่มจมได้

Strategy

พูดถึงเรื่องกลยุทธ์ถ้าเอาแบบยืนหนึ่งชนิดที่เล่มนี้ยกย่องเหนือกว่าทีมอื่นๆ แบบไม่เห็นฝุ่นก็คงจะหนีไม่พ้นขงเบ้งแห่งจ๊กก๊ก ซึ่งก็เป็นชื่อที่หลายคนรู้จักกันดี แต่นอกจากตัวละครนี้ ในหนังสือยังมี สุมาอี้แห่งวุยก๊ก และจิวยี่ ลกซุน แห่งง่อก๊ก โดยตระกูลสุมาอี้นี่เองที่ในที่สุดก็เป็นผู้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์รวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียว

แต่เมื่อจะกล่าวถึงคนที่มีความสำคัญ เป็นตัวละครที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนการของมนุษย์ก็ต้องยกให้ขงเบ้ง กับความสามารถในการนำศาสตร์และศิลป์ (art & science) มาผสมผสานเป็นกลยุทธ์ได้อย่างลงตัว

ทำไมถึงแบ่งเป็น 2 ศาสตร์นี้

Science คือตำราที่ขงเบ้งใช้ในเชิงยุทธศาสตร์และภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นแผนที่ กระบวนท่าการศึก วิศวกรรมศาสตร์ในการสร้างเกวียนเทียมเพื่อส่งเสบียง รวมถึงศาสตร์อย่างการเรียกลมเรียกฝน หรือแม้แต่ไสยศาสตร์ (เอ๊ะ) มาประยุกต์ใช้ในการจัดการทัพ (operation)

Art คือการนำศาสตร์ของการอ่านคน มาช่วยในการวางแผน เช่นการศึกษาท่าทางคู่แข่ง ลักษณะแม่ทัพฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่การ empathize ลูกน้อง จนสามารถแก้เกมได้ในหลายๆ ครั้ง โดยใช้วิธีซ้อนแผนส่งมือดีเข้าไปช่วยกู้สถานการณ์ได้ทันเวลาเพราะได้คาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าได้จากนิสัยการทำงานของคนๆ นั้น

Opportunity

คำว่าโอกาสในที่นี้ จะขอแบ่งออกเป็น 2 มุม คือ

  1. โอกาสในการขยายอาณาเขต (New Biz Opportunity)
  2. การให้โอกาสลูกน้อง (Empower)

โอกาสในการขยายอาณาเขต (ธุรกิจ)

ขอแยกเป็น 4 ประเด็นหลักเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นค่ะ

  1. การขยายเมื่อคู่แข่งอ่อนแอ
  2. การขยายเมื่อมีกำลังและทีมงานที่มีคุณภาพ
  3. การขยายเพื่อเดินเกมก่อน และปิดความเสี่ยงจากภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าเทียบกับปัจจุบันคงหนีไม่พ้นการเตรียมตัวรับมือ disruption หรือการทำ digital transformation นั่นเอง
  4. การขยายเพื่อเป็นเจ้าตลาด ไม่ว่าจะเป็นแบบแนวราบ (horizontal integration) หรือแนวดิ่ง (vertical integration)

การให้โอกาสลูกน้อง

ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้วุยก๊กสามารถรวมจีนเป็นหนึ่งได้ ด้วยเหตุผลสองประการที่เรากล่าวไปข้างต้น ได้แก่

ประการแรก การให้โอกาสคนเก่งหน้าใหม่ได้สร้าง impact ทำให้ทีมงานของวุยก๊กสามารถผลิตคนเก่งรับช่วงต่อกันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงยุคสุดท้าย

ประการที่สอง การผลักดันให้เกิดการพิสูจน์ตัวเอง อย่างในกรณีขงเบ้ง ช่วงปลายนั้นทหารเสือหลายคนมีอายุมากขึ้น ทำให้ถูกมองว่าเสียเปรียบคู่แข่งและได้รับโอกาสออกไปปฏิบัติภารกิจน้อยลง แต่ขงเบ้งก็ยังให้โอกาสได้พิสูจน์ฝีมือ ซึ่งหลายๆ ครั้งก็ซ้อนกลยุทธ์หาคนแก้เกมไว้ให้เช่นเดียวกัน

Connection

เป็นสิ่งสำคัญแทบจะเรียกได้ว่าเป็นอันดับต้นๆ ของวรรณกรรมเล่มนี้เลยก็ว่าได้

ทำไมเราถึงคิดเช่นนั้น?

มีหลายเหตุการณ์ที่พิสูจน์ว่าการสร้างสัมพัธไมตรีที่ดีไว้ก่อนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เช่น

  1. การสาบานตนเป็นพี่น้องของเล่าปี กวนอู และเตียวหุย (commitment) เป็นการทำสัญญาระดับ spiritual level ที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีเป็นอย่างมาก เพราะทำให้เกิดความเชื่อใจ ไว้ใจ และร่วมแรงกันทำอย่างเต็มที่ มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันอย่างชัดเจน
  2. การขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานข้างเคียง (partner) หลายครั้งที่โดนโจมตีจากองค์กรอื่น ผู้นำที่มีความสามารถนอกจากจะบริหารจัดการองค์กรแล้ว ยังรู้จักหา partner เข้ามาช่วยกลบจุดอ่อน สร้างจุดแข็ง ซึ่งการทำแบบนี้ได้อาศัยการมีเครือข่ายและความสัมพันธ์ที่ดี
  3. การให้อภัยเพื่อให้เกิดฉันทไมตรีในภายภาคหน้า (forgive it) เมื่อเกิดการแข่งขันขึ้น ชัยชนะถือเป็นสิ่งหอมหวนที่ทุกฝ่ายล้วนอยากได้ แต่เมื่อได้ชัยชนะแล้วจะเกิดเหตุการณ์ขึ้น 2 อย่าง อย่างแรกคือเมื่อตีงูก็ตีให้ตายเพื่อหวังว่าจะไม่ให้กลับมาทำร้ายได้อีก แบบที่สองคือการประนอมถนอมน้ำใจไว้ เพื่อให้เป็นบุญคุณกันไปภายภาคหน้า เรื่องนี้คงตอบไม่ได้ว่าใครควรพิจารณาใช้เกณฑ์ไหน แต่ก็ผู้นำที่เก่งก็ควรจะบริหารให้มีทั้งสองอย่างค่ะ
  4. การส่งทีมงานไปช่วยหลังได้รับการร้องขอ (give before take) ให้ก่อนถอนทีหลัง เป็นคำสั้นๆ ที่มีความหมายตรงตัวที่สุดและเป็นคำพูดจริงของ CEO บริษัทมหาชนแห่งหนึ่งในไทย
  5. การคบค้าสมาคมกับคนเก่ง คนดี หลากหลาย (networking) การคบค้าสมาคมกับคนมีปัญญาในสมัยก่อนก็คล้ายกับปัจจุบันคือเป็นส่วนต่อขยายที่จะนำไปสู่ทางออกหรือโอกาสใหม่ๆ ได้ โดยถ้าเทียบจากในหนังสือจะมีหลายต่อหลายตอนทีผู้นำส่งฑูตหรือคนสนิทไปเจรจากับฝ่ายตรงข้าม โดยมักเลือกจากคนที่เคยรู้จักกัน เรียนจากตำราครูบาอาจารย์คนเดียวกัน หรือแม้แต่เคยอยู่ทีมเดียวกันมาก่อน แม้กระทั่งเมื่อต้องวางกลยุทธ์ในการรับมือกับภัยคุกคาม ที่ปรึกษาก็มักจะ refer ถึงคนสนิทที่ตัวเองเคยสร้าง relationship และเห็นความสามารถให้เข้ามาทำงานสำคัญด้วยเสมอ

Honestly & Loyalty

ซื่อสัตย์และภักดีเป็นหลักสำคัญแห่งบ้านจ๊กก๊กของเล่าปี่เลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะมี 2 เหตุการณ์จากพี่น้องร่วมสาบานอย่างกวนอู ซึ่งทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตำนานเทพเจ้ากวนอูที่ทั้งคนไทยและจีนให้ความเคารพนับถือ

และเหตุการณ์สำคัญที่ทหารเอกฝ่าทัพเข้าช่วยเหลือบุตรและภรรยาของเล่าปี ที่หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยิน “จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า”

กวนอู ถือได้ว่าเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์เป็นอย่างมาก แม้จะถูกจับเป็นตัวประกันของโจโฉ ซึ่งอย่างที่เคยบอกว่าโจโฉสนใจที่ความสามารถจึงพยายาม recruit กวนอูให้มาทำงานด้วย มอบของมีค่าให้มากมายทั้งทรัพย์สินเงินทอง หญิงสาวบริวาร ดูแลเป็นอย่างดีโดยไม่ให้ออกมาทำศึก เพราะกวนอูให้ข้อแม้ว่าจะยอมเข้าด้วยโจโฉหากแทนคุณแล้ว เมื่อพบว่าเล่าปี่อยู่ที่ไหน ตนจะพาครอบครัวเล่าปี่ไปหาให้ได้

แต่สิ่งเดียวที่กวนอูรับและยินดีเป็นอย่างมาก คือม้าเซ็กเธาว์ (ตามตำราคือม้าดีที่วิ่งอึดและทน เดินทางวันละหลายหมื่นลี้) ซึ่งในที่สุดกวนอูก็ได้มีโอกาสใช้ม้าตัวนี้ฝ่าด่านต่างๆ กลับไปหาเล่าปี่ได้ ไม่สนใจยศฐาบรรดาศักดิ์ที่โจโฉมอบให้ ยึดถือคำมั่นสัญญา (commitment) ที่เคยให้ไว้กับพี่น้อง ตลอดจนการออกรบครั้งสุดท้ายจนตาย ที่ทำภารกิจปกป้องและรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับเล่าปี่จนถึงวาระสุดท้าย เป็นหนึ่งบุคคลที่น่ายกย่อง จนเป็นตำนานเล่าต่อกันมาถึงปัจจุบัน

จูล่ง เดิมเป็นทหารของค่ายอื่นมาก่อน เคยได้เจอกับเล่าปี่รู้สึกถูกชะตากัน (เคมีตรงกันนั่นเอง) ด้วยฝากตัวกับนายเก่าแล้วจึงไม่สามารถติดตามเล่าปี่มาได้ หลังจากเสียนายก็เฝ้าตามหาเล่าปี่จนพบ และรับใช้อย่างเต็มความสามารถ

วันหนึ่งในสงครามผาแดง ที่กองทัพเล่าปี่แตก ทำให้เล่าปี่ผลัดหลงกับครอบครัว จู่ล่งในฐานะที่ได้รับหน้าที่ดูแล เฝ้าตามหาฝ่ากองทัพข้าศึกไปหลายครั้ง จนในที่สุดพบอาเต๊า ก็ห่อผ้าไว้ในเกราะแล้วฝ่าทหารโจโฉออกมาได้ นำลูกชายมาคืนแก่เล่าปี่ แต่เล่าปี่กลับโยนอาเต๊าทิ้ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าลูกไม่สำคัญเท่าลูกน้อง

เป็นฉากที่หลายคนน้ำตารื้นเพราะตื้นตันในความภักดีของจู่ล่ง

เราคงไม่วิเคราะห์ part นี้เพิ่มแล้วค่ะ คิดว่าผู้อ่านคงเห็นภาพและเข้าใจความหมายของคำว่า Honestly และ Loyalty ได้เป็นอย่างดี

Reward

รางวัลเปรียบเสมือนการตอบแทนที่ตรงตัวที่สุดที่เป็นขวัญกำลังใจให้กับทีมงาน รวมถึงเป็นแรงจูงใจในการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและเพิ่มคนเก่งเข้ามาในองค์กร

รางวัลไม่ได้หมายถึงการให้เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่ยังหมายถึงตำแหน่ง สิ่งของล้ำค่า (rare item) เกียรติยศ อำนาจการตัดสินใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ทุกคนอยากจะได้รับ แต่การให้รางวัลในฉบับสามก๊กนั้นมีนัยยะซ่อนอยู่ กล่าวคือนอกจากจะให้เพื่อเป็นสิ่งตอบแทนแล้ว ยังเป็นการให้เพื่อการคานอำนาจ สร้างความพึงพอใจในมูลค่าสูงให้ฝ่ายที่มีอำนาจเพื่อลดทอนการเลื่อยขาเก้าอี้ของผู้นำ ซึ่งในบางครั้งรางวัลยังหมายถึงการให้เพื่อคานอำนาจอีกฝ่ายอีกด้วย

ขึ้นอยู่กับว่า vision ของ CEO จะมองเห็นทางออกเพื่อรักษาตำแหน่งของตัวเองในรูปแบบไหน

Penalty

เป็นข้อสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กันของการบริหารงานในองค์กรที่มีคนหมู่มาก ซึ่งหากกล่าวถึงวรรณกรรม จะขอแบ่งรูปแบบการลงโทษเป็น 2 ข้อหลักๆ คือ

  1. ลงโทษให้เป็นแบบอย่าง หรือสุภาษิตไทยที่ว่าเฉือดไก่ให้ลิงดู เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในอนาคต
  2. ลงโทษเพื่อรักษาสัตย์ เป็นการลงโทษตามที่ตัวเองได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งอาจหมายรวมถึงการลงโทษตัวเองด้วยเช่นกัน เช่นบางครั้งเมื่อแม่ทัพต้องการจะออกไปทำศึกโดยไม่ได้รับการเห็นชอบ ก็จะเขียนหนังสือฆาตโทษไว้ หากแพ้กลับมาก็ต้องทำตามที่ได้ระบุไว้ หรือตอนหนึ่งที่โจโฉจำเป็นต้องผ่านทัพทางที่ชาวบ้านได้ทำกสิกรรมไว้ จึงแจ้งทหารไม่ให้เหยียบย่ำทุ่งข้าวโภชน์สาลี หากใครไม่ทำตามจะสั่งฆ่า แต่เมื่อเดินไปได้ระยะหนึ่ง เกิดมีอีกาบินผ่านทำให้ม้าของโจโฉตกใจวิ่งเหยียบข้าวโภชน์สาลีเสียหายจำนวนมาก ครั้นจะไม่ทำตามวาจาก็กลัวว่าลูกน้องจะไม่เชื่อฟัง ครั้งจะทำจริงก็เกินกว่าเหตุ จึงทำการตัดผมตัวเองทิ้งเสมือนว่าตัดศรีษะ ลูกน้องและชาวบ้านต่างสรรเสริญในความสัตย์เป็นอย่างมาก เรียกว่าได้ใจไปเต็มๆ ค่ะ

และนี่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่ได้จากการตกผลึกหลังอ่านวรรณกรรมฉบับนี้ หวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน หยิบหนังสือสามก๊กขึ้นมาอ่านบ้างนะคะ

หากใครยังไม่แน่ใจว่าจะอ่านจบมั้ยหรือเนื้อหาของฉบับพระยาพระคลัง (หน) จะบรรยายในลักษณะไหน

เรามี link ของสามก๊กวิทยา ที่รวบรวมสามก๊กเอาไว้ถึง 80 ตอนจากทั้งหมด 87 แนบไว้ให้ด้วยค่ะ

Link: https://www.samkok911.com/p/three-kingdoms-ebook.html

หวังว่าจะเพลิดเพลินกับวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์จนวางไม่ลงเหมือนกันนะคะ :)

ขอบคุณภาพจากสามก๊กวิทยา จาก website Pinterest

และนี่คือตัวละครที่เราชื่นชอบมากที่สุดในสามก๊กค่ะ

--

--